วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ขั้นตอนการควบคุมงบประมาณ

การควบคุมงบประมาณส่วนจังหวัด
ขั้นตอนการควบคุมเงินงบประมาณ
ขั้นที่ 1: กำหนดเป้าหมายของคุณ
สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน คุณอาจต้องการบ้านหลังใหม่ ต้องการเกษียณอายุการทำงานเร็วขึ้น หรือแม้แต่ต้องการศึกษาต่อ เป้าหมายของคุณอาจแบ่งได้เป็นสามประเภทคือ เป้าหมายทางการเงินระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้ถามตัวเองดังนี้ อะไรสำคัญสำหรับฉัน ฉันจำเป็นต้องมีอะไร ฉันต้องการอะไร คำตอบที่ได้จะบอกถึงเป้าหมายของคุณ หากคุณสมรสแล้ว คุณอาจพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับคู่สมรส และตัดสินใจว่าเป้าหมายร่วมกันของคุณทั้งสองคืออะไร จากนั้นเขียนเป้าหมายเหล่านี้ลงในกระดาษ เมื่อคุณรู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร คุณก็สามารถเริ่มวางแผนงบประมาณได้ตามนั้น
เป้าหมายระยะสั้น : คือเป้าหมายซึ่งคุณสามารถบรรลุได้ภายในปีหน้าหรือ ระยะเวลาราวๆ นั้น เป้าหมายดังกล่าวนี้ก็เช่น ชำระหนี้บัตรเครดิตจำนวน 40,000 บาท ซื้อโทรทัศน์หรือตู้เย็นใหม่ หรือค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวพักผ่อน
เป้าหมายระยะกลาง : คือเป้าหมายซึ่งคุณต้องการจะบรรลุภายในสองถึงห้าปี ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องการออมเงินไว้เป็นเงินดาวน์ค่าบ้าน หรือค่าเครื่องเรือนชุดใหม่ภายในบ้าน
เป้าหมายระยะยาว : คือเป้าหมายที่ต้องใช้เวลามากกว่าห้าปีจึงจะบรรลุผล ได้แก่ การออมเงินสำหรับวัยเกษียณ หรือค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย




ขั้นที่ 2: รวบรวมข้อมูล
รวบรวมบันทึกหลักฐานรายรับรายจ่ายทั้งหมดของครัวเรือน ในการประเมินค่าใช้จ่าย คุณต้องละเอียดลออและซื่อสัตย์ต่อตนเอง อย่าลืมว่างบประมาณควรเป็นภาพที่ถูกต้องแม่นยำ มิใช่ “กรณีตัวอย่างที่ดีที่สุด” ขอแนะนำให้คุณรวบรวมข้อมูลดังต่อไปนี้ :
ต้นขั้วสมุดเช็ค
สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีที่แล้ว
ทะเบียนสมุดเช็ค
ใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต (โดยเฉพาะยอดสรุป ณ สิ้นปี)
ข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายยอดใหญ่ๆ เช่น เงินกู้ซื้อรถยนต์ และวงเงินสินเชื่อ
รายการฝาก-ถอนเงินจากธนาคารและสถาบันทางการเงินอื่นๆ


ขั้นที่ 3: ค้นหาว่าขณะนี้คุณอยู่ตรงไหน
หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาได้แล้ว ก็ให้ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อพิจารณาว่า คุณมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นอย่างไรในปัจจุบัน สิ่งนี้จะช่วยให้คุณมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย อย่ากังวลหากคุณต้องประมาณตัวเลขขึ้นมาในการจัดทำงบประมาณครั้งแรก คุณอาจต้องใช้เวลาสองสามเดือนกว่าจะรู้แน่ชัดว่าขณะนี้คุณอยู่ตรงจุดไหน แต่งบประมาณครั้งแรกจะช่วยให้คุณเห็นภาพคร่าวๆ ว่าคุณใช้จ่ายไปกับเรื่องใดบ้าง และเงินของคุณหายไปไหน
คุณควรจัดแบ่งข้อมูลออกเป็นสามส่วนดังข้างล่างนี้ เพื่อจะนำไปจัดทำงบประมาณต่อไป
เงินที่คุณหามาได้ : รวมยอดรายได้จากแหล่งต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ “เงินได้สุทธิ” หลังจากหักภาษี ค่าคอมมิชชั่นหรือโบนัส ค่าอุปการะบุตร เงินจากกองทุนประกันสังคมหรือสวัสดิการหลังเกษียณ เงินสงเคราะห์กรณีทุพพลภาพ ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ
เงินที่คุณใช้ไป : รวมยอดค่าใช้จ่ายแบบคงที่และแบบแปรผัน ค่าใช้จ่ายคงที่หมายถึงค่าใช้จ่ายที่มียอดคงที่เท่ากันทุกเดือน (เช่น ค่าเช่า ค่าผ่อนชำระเงินกู้ระยะยาว ค่าเบี้ยประกัน ชำระคืนเงินกู้ เงินออมหลังเกษียณ ฯลฯ) และมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตัดออกได้ ส่วนค่าใช้จ่ายแปรผันเป็นค่าใช้จ่ายที่มียอดเปลี่ยนแปลงได้ (เช่น ค่าบริการเคเบิลทีวี ค่าเครื่องอุปโภคบริโภค ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ) และสามารถลดหรือตัดออกไปได้
ผลลัพธ์สุดท้าย : นำยอดค่าใช้จ่ายไปลบออกจากรายได้ จำนวนเงินที่เหลือเรียกว่า “รายได้ส่วนเกินจากรายได้ประจำ” ซึ่งสามารถนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินและใช้สำหรับงบประมาณที่กำหนดไว้


ขั้นที่ 4: ตรวจสอบผลลัพธ์สุดท้ายของคุณ
ผลลัพธ์สุดท้ายคือผลต่างระหว่างจำนวนเงินที่คุณหามาได้กับจำนวนเงินที่คุณใช้ไป ซึ่งทำให้คุณทราบแน่ชัดว่าคุณกำลังใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่ ถ้าตัวเลขสุดท้ายออกมาเป็นบวก ลองทบทวนดูว่าจะเพิ่มยอดชำระคืนหนี้สินหรือเก็บออมเงินให้มากขึ้นดีหรือไม่ ถ้าตัวเลขออกมาเป็นลบ คุณกำลังใช้จ่ายเงินมากกว่าที่หามาได้ และอาจกำลังถมช่องว่างที่ขาดไปด้วยสินเชื่อ หากคุณมียอดชำระคืนหนี้สินและบัตรเครดิตเป็นจำนวนมากกว่า 15- 20% ของเงินได้สุทธิ คุณกำลังตกอยู่ในอันตราย ถ้าผลลัพธ์สุดท้ายออกมาเป็นลบ คุณจำเป็นต้องตรวจสอบค่าใช้จ่ายแปรผันและพิจารณาว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างไร
ขั้นที่ 5: ติดตามยอดค่าใช้จ่าย
หลังจากคำนวณงบประมาณครั้งแรกขึ้นมาแล้ว ให้คุณเริ่มบันทึกค่าใช้จ่ายต่อเดือน ถึงแม้ผลลัพธ์สุดท้ายของคุณจะออกมาเป็นบวก ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรจะรู้ว่าคุณใช้จ่ายเงินไปอย่างไรบ้าง

พกสมุดบันทึกเล็กๆ ติดตัวแล้วคอยจดบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและการเบิกถอนเงินทุกครั้ง คุณจะประหลาดใจเมื่อได้รู้พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตน ตัวอย่างเช่น หลายคนพบว่าตัวเองหมดเงินไปหลายร้อยหลายพันกับค่ากาแฟ ของขบเคี้ยว นิตยสาร และน้ำอัดลม โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะใช้จ่ายเงินไปไม่มากนักกับค่าทำฟันหรือเครื่องอุปโภคบริโภค พวกเขากลับเสียเงินไปกับสิ่งไม่จำเป็น หรือบรรดาสิ่งของที่พวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมี เป้าหมายของการติดตามยอดค่าใช้จ่ายก็เพื่อทำความเข้าใจว่าเงินของคุณหายไปไหน


ไม่มีความคิดเห็น: